ถ้าย้อนศึกษาถึงเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของศิลปะไทย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่…
1.จิตรกรรมไทย
2.ประติมากรรมไทย
3.สถาปัตยกรรมไทย
1. จิตรกรรมไทย
คือ ภาพเขียนซึ่งมีเอกลักษณ์ตามแบบอย่างของไทย โดยมีความแตกต่างแปลกแยก จากศิลปะของประเทศอื่นอย่างชัดเจน มีลายไทย เป็นองค์ประกอบ ซึ่งหยิบนำรูปร่างมาจากธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบ เช่น ลายกนก, ลายประจำยาม, ลายเครือเถา เป็นต้น รวมทั้งรูปที่มาจากความเชื่อ เช่น รูปเทวดา หรือ รูปยักษ์ เป็นต้น
สำหรับจิตรกรรมไทย จัดเป็นงานวิจิตรศิลป์ประเภทหนึ่ง โดยใช้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมโบราณของประเทศชาติ อัดแน่นไปด้วยคุณค่าทางศิลปะ ในยุคปัจจุบันใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในอดีต ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา, ประวัติศาสตร์,วิถีชีวิต รวมทั้งการแสดงพื้นเมืองต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาถ่ายทอดเป็นภาพจิตรกรรมไทยได้ เมื่อมีผู้รับชมงานจิตรกรรมจะเกิดสุนทรียภาพขึ้น ภายในจิตใจมนุษย์ผู้นั้น สำหรับงานจิตรกรรมไทย สามารถแบ่งออกตามลักษณะซึ่งเป็นรูปแบบทางศิลปกรรม ได้ 2 แบบ คือ…
1.1) จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปะ อันมีความประณีตสวยงาม ซึ่งสะท้อนและแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่อยู่เบื้องลึกภายในจิตใจ รวมทั้งชูจุดเด่นของความเป็นไทยได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะในเรื่องของความอ่อนโยน จนกลายมาเป็นลักษณะประจำชาติ นิยมเขียนบนฝาผนัง พร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา เขียนด้วยสีฝุ่น ซึ่งเป็นเทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงานของช่างเขียนไทยในครั้งโบราณ
1.2) จิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย
มาจากความเจริญก้าวหน้าของโลก อันสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยอันเต็มไปด้วยความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยคุณค่าในรูปแบบของตัวเอง ดำเนินไปในแนวทางเดียวกันกับศิลปะตะวันตกภายใต้ลัทธิต่างๆ มีการสร้างสรรค์ตามความชอบในของศิลปินในแต่ละคน
2. ประติมากรรมไทย
จัดเป็นผลงานศิลปะประเภทหนึ่ง ซึ่งแสดงออกผ่านทางการปั้น, แกะสลัก, หล่อ ตลอดจนประกอบให้เข้าเป็นรูปร่าง 3 มิติขึ้นมา โดยมีรูปแบบเป็นของไทยโดยเฉพาะ ส่วนวัสดุที่ใช้ เช่น ดิน, ปูน, หิน, อิฐ ,เขาสัตว์, กระดูก และอื่นๆ สำหรับผลงาน มีทั้งแบบนูนต่ำ, นูนสูง และลอยตัว นิยมสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นลวดลาย เพื่อรวมเข้ากับงานสถาปัตยกรรม เช่น ลวดลายแกะสลักเพื่อนำไปประดับตามอาคาร, บ้าน, โบสถ์วิหาร และอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถสร้างเป็นลวดลายตกแต่งงานประติมากรรมแบบลอยตัวได้อีกด้วย ซึ่งมักสร้างสรรค์ผลงาน ออกมาในลักษณะของความเป็นพระพุทธรูป, เทวรูป รวมทั้งรูปเคารพต่างๆ จนถึงข้าวของเครื่องใช้ โดยมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามฝีมือของช่างในแต่ละแห่ง หรือมีความแตกต่างกันไปตามคตินิยม
3. สถาปัตยกรรมไทย
จัดเป็นศิลปะการก่อสร้างของไทยที่มีตั้งแต่โบราณ แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์อันเป็นรสนิยมของชาวไทย เช่น อาคาร บ้านเรือน, โบสถ์, วิหาร ตลอดจนสิ่งก่อสร้างอื่นๆ โดยรูปแบบของสถาปัตยกรรมในแต่ละท้องถิ่น จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปบ้าง ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น หากแต่อย่างไรก็ตามสิ่งก่อสร้างทางศาสนา จะมีลักษณะที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากเท่าไหร่นัก ซึ่งสามารถแบ่งแยกหมวดหมู่ได้ 2 ประเภท คือ…
3.1) ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
เช่น บ้าน, ตำหนัก, วัง เป็นต้น โดยมีทั้งการก่อสร้างด้วยไม้และการก่อสร้างด้วยปูน ลักษณะเรือนไม้ของประเทศไทยในแต่ละท้องถิ่นจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน หากแต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกใต้ถุนสูง ส่วนวังเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นสูง และพระราชวัง เป็นที่ประทับของพระมหากษัติรย์
3.1) เกี่ยวข้องกับศาสนา
ส่วนใหญ่สามารถพบเห็นได้ในบริเวณ วัด โดยประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมหลายประเภท เช่น โบสถ์, วิหาร, กุฎิ, หอไตร และอื่นๆ
โดยคุณผู้อ่านคงจะเห็นว่า งานศิลปะของไทยในอดีตส่วนใหญ่แล้วบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งศาสนาเป็นสิ่งที่ผูกพันกับชีวิตของชาวไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้วนั่นเอง